หน้าเว็บ

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เสี้ยวป่า



เสี้ยวป่า

                ชื่อสามัญ         Orchid Tree, Purple Bauhinia 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia saccocalyx Pierre
ชื่อวงศ์           LEGUMINOSAE (CAESALPINIACEAE)
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 10 เมตร เป็นพืชที่สามารถขึ้นได้ในทุกสภาพดิน พบมากในป่าเต็งรังแถบภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน
เสี้ยว มีหลายชนิด เช่น เสี้ยวดอกแดง เสี้ยวดอกขาว เสี้ยวป่า เป็นต้น เสี้ยวบ้านนิยมนำยอดอ่อนมาปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิดเช่น ต้มหรือนึ่งกินกับน้ำพริกต่างๆ พื้นเมืองเหนือนิยมนำมาแกงโดยใส่วุ้นเส้นและไข่มดแดงลงไปเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อมากที่สุดชนิดหนึ่ง

 สี้ยวที่ทำการศึกษาคือ เสี้ยวป่า เป็นไม้ยืนต้นที่มีอยู่ทั่วไปในป่าเต็งรัง ลักษณะลำต้นมีเปลือกหนาเป็นร่อง เนื้อไม้เปราะ หักง่าย ลายไม้ไม่เป็นระเบียบ กิ่งก้านคดงอ แตกออกจากลำต้นอย่างไม่เป็นระเบียบ เป็นต้นไม้ที่มีรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดิน และมีรากแขนงแตกออกโดยรอบแผ่ออกไปตามพื้นดิน ใบเป็นใบแฝดสีเขียว คล้ายปีกผีเสื้อ ออกดอกเป็นช่อ ผลคล้ายฝักถั่ว ออกเป็นพวง มีเมล็ดอยู่ภายในประมาณ 20 เมล็ด
การขยายพันธุ์ของเสี้ยวป่ามักงอกต้นใหม่ขึ้นมาจากรากที่กระจายไปตามพื้นดินรอบๆ ต้นมากกว่าการงอกจากเมล็ด ทำให้มักพบเสี้ยวป่าขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม รวมกับต้นไม้ชนิดอื่น ๆ มากกว่าพบอยู่ต้นเดี่ยว ๆ และเนื่องจากมีกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มทึบ ทำให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ประเภท นกและแมลง บางชนิด รวมทั้งงูด้วยซึ่งอาศัยเป็นที่หลบศัตรู และกินดอกเสี้ยวเป็นอาหาร
การใช้ประโยชน์ของเสี้ยวป่า จะใช้ประโยชน์จากการนำลำต้น หรือกิ่งที่มีความตรงอยู่บ้างมาทำเป็นเสาค้ำยันให้แก่บางส่วนของบ้าน แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก ทำเป็นเสาสำหรับพืชผักที่เป็นไม้รอเลื้อย หรือนำไปทำเป็นเชื้อเพลิง เผาถ่าน
“เสี้ยวป่า” เป็นไม้พื้นเมืองอีกชนิดหนึ่งที่พบเห็นโดยทั่ว ๆ ไป มีความเกี่ยวข้องภูมิปัญญาชาวบ้าน ประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรม ค่อนข้างไม่ชัดเจน การนำเอาส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ไปใช้ประโยชน์มีน้อย จึงเป็นที่น่าสนใจในจุดนี้ที่น่าจะมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
วิธีการในการศึกษา

1. การศึกษาด้านพฤกษศาสตร์
      1.1 ศึกษาเกี่ยวกับขนาดของส่วนต่างๆ ของเสี้ยวป่า
วิธีการศึกษา
      ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ “เสี้ยวป่า” ใช้การศึกษาเปรียบเทียบ ระหว่างต้นที่มีอายุแตกต่างกัน เพื่อให้เห็นการเติบโตตามระยะเวลาและอายุของต้นไม้
      1.2 การศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางเคมีของส่วนต่างๆ ของพืช ใช้สารเคมี เช่น สารละลายคอปเปอร์ซัลเฟต สารละลายเบเนดิกซ์ น้ำแป้งสุก โปตัสเซียมไอโอไดน์ สารละลายยูนิเวอร์อินดิเคเตอร์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองในห้องวิทยาศาสตร์ ในการตรวจหาคุณสมบัติต่าง ๆ
2. การศึกษาด้านชีววิทยาของพืช ใช้วิธีการศึกษาแบบเปรียบเทียบ เพื่อหาอัตราการเจริญเติบโตของพืชในระยะเวลาต่าง ๆ ความสัมพันธ์กันระหว่างพืชและองค์ประกอบต่าง ๆ สภาพของดิน อากาศ ทั้งนี้เพื่อให้เห็นวงจรชีวิตของพืชนั้น
3. การศึกษาด้านนิเวศวิทยาของพืช ใช้วิธีการสังเกต การตรวจสอบจุดที่พืชขึ้นอยู่ในบริเวณที่แตกต่างกัน เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับสิ่งอื่น
4. การศึกษาการใช้ประโยชน์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรม ศึกษาโดยการค้นคว้าจากเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ การสอบถามผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ในท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านอื่นๆ

จากการศึกษา “เสี้ยวป่า” พบว่า “เสี้ยวป่า” เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้มาก 10 - 15 เมตร มีกิ่งก้านสาขามากมาย สามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด พบมากในพื้นที่ป่าเต็งรัง ทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
         เสี้ยว มีอยู่หลายชนิด เช่น เสี้ยวป่า เสี้ยวดอกแดง เสี้ยวดอกขาว เป็นต้น เสี้ยวดอกขาว สามารถนำยอดอ่อน ใบอ่อนไปทำอาหารรับประทานได้ และเป็นอาหารพื้นเมืองเหนือที่นิยมกันเป็นอย่างมาก 

ลำต้น
ของเสี้ยวจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ทั่วไป
ราก
ของต้นเสี้ยวมี 3 ชนิด คือ รากแก้ว รากแขนง และรากแขนงย่อย แต่ละชนิดมีขนาดแตกต่างกัน โดยรากแก้วจะมีขนาดใหญ่ รองลงมาคือรากแขนง ขนาดเล็กสุดคือรากแขนงย่อย รากแก้วของต้นเสี้ยวจะมีความแข็งแรงและเหนียวช่วยในการยึดเกาะ และทำให้ลำต้นตั้งตรง หมวกรากมีความแข็งมากเนื่องจากต้นเสี้ยวมักขึ้นในพื้นที่แห้งแล้ง พื้นดินแข็ง ทำให้ต้องมีรากที่แข็งแรงเพื่อการชอนไชพื้นได้ดี รากต้นเสี้ยวทำหน้าที่ในการดูดน้ำและอาหารให้แก่ลำต้น และยังช่วยในการซับน้ำและทำให้การยึดเกาะของดินดีขึ้น
ขนาดของลำต้นขึ้นอยู่กับบริเวณที่เสี้ยวขึ้นอยู่ หากมีต้นไม้หนาแน่นจะมีลำต้นเล็กตั้งตรงและสูง หากอยู่ในที่ต้นไม้น้อยจะมีขนาดของลำต้นใหญ่แต่ไม่สูง ลำต้นแตกกิ่งออกโดยรอบเป็นทรงพุ่ม ลำต้นมีเปลือกหุ้มหนาประมาณ 1 นิ้ว เปลือกเป็นสีเทาปนดำ บริเวณที่อยู่ใกล้พื้นดินจะมีสีเข้มกว่าส่วนที่อยู่สูงกว่า เปลือกของลำต้นจะมีน้ำยางสีขาวใส เมื่อถูกผิวหนังจะมีอาการคันเล็กน้อย เปลือกและ น้ำยางมีกลิ่นชื้นเล็กน้อย เมื่อใช้ลิ้นแตะดูจะมีรสฝาดเล็กน้อย เนื้อไม้มีสีขาว ลายไม้ไม่เป็นระเบียบ มีความแข็งพอสมควร แต่เปราะหักง่าย ไม่นิยมนำไปใช้ประโยชน์อื่นนอกจากการนำไปใช้เผาทำถ่านไม้ และนำลำต้นหรือกิ่งไปใช้ทำเป็นเสาค้ำส่วนประกอบของบ้าน หรือหลักที่ทำให้ไม้เลื้อยเกาะ
ใบเสี้ยว
มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ แต่โค้งมนกว่า ออกสลับกันไปมาตามข้อของกิ่ง ด้านบนของใบจะมีสีเขียวเข้มมากว่าด้านล่างของใบ ก้านใบเป็นสีเขียวอ่อน และจะเป็นสีเขียวปนน้ำตาลเมื่อเป็นใบแก่ เส้นใบมีการเรียงตัวคล้ายร่างแห ขอบเป็นคลื่นห่าง ๆ ไม่สม่ำเสมอ ปากใบเห็นไม่ชัดเนื่องจากใบบางมาก ด้านล่างของใบมีขน ด้านบนของใบไม่มีขน มีเส้นใบแตกแขนงไปทั่ว บริเวณโคนใบจะเป็นจุดศูนย์กลางของเส้นใบ
ดอก
เป็นดอกช่อ แบบกระจาย ประมาณ 6 - 12 ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงสีเขียวบริเวณกลีบเลี้ยงมีเส้นสีชมพูเป็นเส้นๆ จำนวน 5 เส้น กลีบเลี้ยงของดอกที่บานเต็มที่ยาว 8.5 เซนติเมตร กว้าง 0.5 เซนติเมตร เมื่อดอกบานกลีบเลี้ยงจะแตกแบ่งครึ่งออกเป็น 2 ส่วน กลีบดอก สีชมพูถึงม่วงแกมขาว จำนวน 5 กลีบ บริเวณกลีบดอกจะมีลักษณะเป็นเส้นร่างแหแตกแขนงทั่วกลีบ กลีบดอกนุ่มมีขนเล็ก ๆ ตรงโคนกลีบดอกแคบ กว้าง 0.1 เซนติเมตร กลางกลีบกว้าง 1.5 เซนติเมตร ปลายมน ปลายสุดของกลีบกว้าง 0.5 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกเมื่อบานเต็มที่ตรงโคนดอก 1 เซนติเมตร กลางดอก 2.5 เซนติเมตร ขอบดอก 10.5 เซนติเมตร. เกสรตัวเมียสีเขียวอ่อน 1 อัน ติดอยู่กลางดอกและอยู่เหนือวงกลีบ มียางเหนียว ๆ บริเวณปลายยอด เกสรตัวผู้อยู่รอบ ๆ เกสรตัวเมีย ก้านชูสีขาวอมชมพู ละอองเรณูเป็นเม็ดกลม ๆ เหนียว ความยาวเฉลี่ยของก้านดอกประมาณ 12.5 เซนติเมตร ดอกเสี้ยวป่ามีกลิ่นหอมอ่อน ๆ สำหรับช่วยล่อแมลงในการผสมพันธุ์ ไม่ระคายเคืองเมื่อสัมผัส ออกดอกตลอดทั้งปี ออกมากใน ช่วงเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม
ในการทดสอบเพื่อหาปริมาณน้ำตาลในดอก เมื่อทดสอบกับสารละลายคอปเปอร์ซัลเฟตแล้วนำไปต้ม ผลปรากฏว่าเปลี่ยนเป็นสีส้มอิฐแสดงว่าในดอกมีปริมาณน้ำตาลอยู่
ผลเสี้ยวป่า
เป็นผลเดี่ยวออกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 4 - 6 ฝัก ฝักมีลักษณะแบนยาวคล้ายฝักกระถิน แต่ใหญ่กว่า มีขอบหนา แข็ง เปลือกหนา มีขนาดของฝัก กว้างประมาณ 1.5 - 2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13 - 20 เซนติเมตร มีเมล็ดอยู่ภายในประมาณ 20 เมล็ด มองเห็นเมล็ดได้อย่างชัดเจนจากภายนอกฝักที่จะนูนบริเวณที่เป็นเม็ด ฝักจะยึดติดกับปลายกิ่งโดยก้านฝักสีเขียวเมื่อเป็นฝักอ่อน และจะมีสีน้ำตาลเข้มเมื่อเป็นฝักแก่และแห้ง ก้านของผลจะมีความแข็งแรงมาก ไม่ขาดหรือหักได้ง่าย ผลจะออกประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม จากการทดสอบทางเคมี ไม่พบว่ามีแป้งและโปรตีนในเนื้อของผลเสี้ยวป่า แต่จะมีปริมาณน้ำตาลและวิตามินซีอยู่บ้าง
เมล็ดของเลี้ยวป่
จะมีจำนวนเมล็ดประมาณ 10 - 20 เมล็ดต่อฝัก มีลักษณะเป็นรูปวงรี ขนาดของเมล็ดมีความกว้างประมาณ 0.3 - 0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.5 - 1.0 เซนติเมตร เมล็ดอ่อนจะมีเปลือกนิ่ม เป็นเยื่อบาง ๆ เมล็ดแก่จะแห้ง แข็ง เมล็ดมีระยะพักตัวนาน เพาะด้วยวิธีการธรรมดาไม่งอก รสชาติเฝื่อน มีกลิ่นคล้ายเมล็ดแตงโม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น